การเมืองไทย
อังกฤษ-อียู เร่งผลักดันข้อตกลงการค้าหลัง ‘เบร็กซิต’ วันสุดท้ายก่อนเส้นตาย

ผู้นำการเจรจาของอังกฤษและสหภาพยุโรปร่วมประชุมที่กรุงบรัสเซลล์ในวันอาทิตย์ เพื่อผลักดันรอบสุดท้ายให้เกิดข้อตกลงการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายหลังจากการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ เบร็กซิต (Brexit)
ผู้แทนทั้งสองฝ่ายมีเวลาจนถึงเที่ยงคืนวันอาทิตย์นี้ในการหาทางขจัดความแตกต่างเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าที่จะช่วยเลี่ยงกำแพงภาษีและอุปสรรคทางการค้าระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยมีอนาคตของความสัมพันธ์ทางการค้าและความมั่นคงของทั้งสองฝ่ายเป็นเดิมพัน
ทั้งนี้ อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 31 มกราคมปีนี้ แต่ยังคงอยู่ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจของอียูจนถึงสิ้นปีนี้ นั่นหมายความว่าหากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถจัดทำข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ก่อนวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ก็มีโอกาสเกิดความวุ่นวายในการซื้อขายสินค้าข้ามพรมแดนได้ เนื่องจากภาษีและอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ ที่จะมีผลบังคับใช้ทันที
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่อียูเกรงว่าการที่อังกฤษจะมีอิสระในการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของตนเองซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนและนิติบุคคลในสหภาพยุโรป ทางรัฐบาลอังกฤษเองก็มองว่า การแยกตัวหรือ Blexit ครั้งนี้ คือการดึงอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและการกำหนดทิศทางของประเทศได้อย่างอิสระกลับคืนมาจากการควบคุมของสหภาพยุโรปเช่นกัน
ขณะนี้มีเงื่อนไขสำคัญ 3 ประการที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ หนึ่งคือสิทธิของชาวยุโรปในการทำประมงในเขตน่านน้ำของอังกฤษ สองคือกฎเกณฑ์กำกับการแข่งขันทางธุรกิจและความช่วยเหลือของรัฐบาลสำหรับบริษัทต่าง ๆ สามคือการจัดการข้อพิพาทระหว่างสหภาพยุโรปกับอังกฤษตามกระบวนการยุติธรรม
จากทั้งสามข้อที่ระบุมา ดูเหมือนข้อสองคือกฎเกณฑ์กำกับการแข่งขันทางธุรกิจและความช่วยเหลือของรัฐบาลสำหรับบริษัทต่าง ๆ จะเป็นส่วนที่ทั้งสองฝ่ายเห็นต่างกันมากที่สุด เนื่องจากอียูต้องการให้เกิดความมั่นใจว่าบริษัทอังกฤษจะไม่มีความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรมเหนือคู่แข่งอื่น ๆ ในยุโรป โดยอียูยืนยันให้บริษัทอังกฤษอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดิมของอียู โดยเฉพาะในด้านสิทธิแรงงานและการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม แต่ทางผู้นำอังกฤษยืนยันว่าไม่สามารถรับเงื่อนไขนั้นได้
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า หากอังกฤษไม่สามารถจัดทำข้อตกลงการค้ากับอียูได้ มูลค่าผลผลิตมวลรวมของอังกฤษจะลดลงราว 6% ในปีหน้า และจะทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้นราว 300,000 คน อ้างอิงจากสำนักตรวจสอบงบประมาณของอังกฤษที่จัดทำรายงานประเมินภาพรวมทางเศรษฐกิจให้แก่รัฐบาลกรุงลอนดอน
การเมืองไทย
ผู้นำอังกฤษเผย เจรจา ‘เบรกซิท’ อาจล่ม

ในขณะที่อังกฤษใกล้ถึงกำหนดถอนตัวสหภาพยุโรป (อียู) อย่างไร้ข้อตกลงในอีกสามสัปดาห์ข้างหน้า ผู้นำอียูและอังกฤษก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะตกลงเจรจาการค้าได้ โดยนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษถึงกับระบุว่า “มีความเป็นไปได้สูง” ที่การเจรจาจะล้มเหลว
ทั้งสองฝั่งเตือนประชาชนของตนว่า อาจพบกับ “เรื่องช็อค” รับปีใหม่ เนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางการค้าระหว่างอังกฤษและอียูครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี
ท่าทีของผู้นำอังกฤษมีขึ้นในขณะที่การเจรจาพยายามหาข้อยุติคืบหน้าไปล่าช้าเกินกำหนด หลังจากที่การเจรจาระหว่างเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันล้มเหลวถึงสามครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายมีกำหนดหาข้อสรุปการเจรจาให้ได้ภายในวันอาทิตย์นี้
นายกรัฐมนตรีจอห์นสันระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ความสัมพันธ์ของอังกฤษหลังออกจากอียูจะมีลักษณะเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและอียู ซึ่งหมายความว่า จะไม่มีการข้อตกลงการค้าเสรีกับอียู อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีอังกฤษระบุว่าา ความเป็นไปได้ดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีเสมอไป
อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งอียูเองกลับแสดงความกังวลถึงการเจรจาดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีสเตฟาน ลอฟเวน ของสวีเดน กล่าวว่าเขาค่อนข้างรู้สึกสิ้นหวัง หลังรับฟังสรุปการเจรจากับอังกฤษจากประธานคณะกรรมาธิการยุโรป
ทางด้านเดวิด แซสโซลิ ประธานรัฐสภายุโรป ก็ระบุเช่นกันว่าเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ไม่มั่นใจว่าปัญหาต่างๆ จะได้รับการคลี่คลาย ทั้งนี้ รัฐสภายุโรปจะต้องอนุมัติข้อตกลงระหว่างอังกฤษและอียู หากทั้งสองฝ่ายสามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้

การออกจากอียูของอังกฤษอาจทำให้ตำแหน่งงานหลายแสนตำแหน่งตกอยู่ในความเสี่ยง และส่งผลต่อมูลค่าการค้าอีกหลายหมื่นล้านดอลลาร์
เมื่อวันพฤหัสบดี ทางอียูเสนอแผนสำรองสี่แผนเพื่อให้การจราจรทางอากาศและทางถนนระหว่างอังกฤษและอียูยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นที่สุดในช่วงหกเดือนหลังจากอังกฤษออกจากอียูอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม
อียูยังเสนอด้วยว่า ชาวประมงของทั้งสองฝ่ายควรเข้าไปทำประมงในน่านน้ำของอีกฝ่ายได้เป็นเวลาอีกหนึ่งปี เพื่อลดความเสียหายทางการค้า อย่างไรก็ตาม แผนสำรองดังกล่าวยังต้องขึ้นกับทางอังกฤษว่าจะเสนอแผนในลักษณะเดียวกันหรือไม่
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากอังกฤษยืนยันว่าจะไม่ผูกติดกับกฎระเบียบของอียู แม้ว่าอังกฤษจะต้องการส่งออกอย่างเสรีไปยังกลุ่มประเทศอียูก็ตาม ในขณะที่ทางอียูรักษากฎระเบียบดังกล่าวไว้เพื่อรักษาสภาพตลาดเดี่ยวและเพื่อรับประกันว่า ตลาดของอียูจะอยู่ได้โดยไม่ถูกประเทศอื่นโดยรอบที่มีกฎระเบียบทางการค้าต่ำกว่าตัดโอกาสทางธุรกิจ
ในช่วงสี่ปีที่มีการเจรจาเกี่ยวกับเงื่อนไขการออกจากอียูของอังกฤษและความสัมพันธ์ทางการค้าในอนาคต ทั้งฝ่ายอังกฤษและอียูไม่สามารถสรุปการพูดคุยตามเส้นตายที่เคยกำหนดไว้ไปแล้วหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม การออกจากอียูของอังกฤษในวันที่ 1 มกราคมที่จะถึงนี้จะต่างออกไป เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษได้ดำเนินการขั้นตอนเปลี่ยนผ่านมาตั้งแต่วันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ตามข้อผูกพันทางกฎหมาย
การออกจากอียูโดยไร้ข้อตกลงของอังกฤษ จะทำให้มีกำแพงทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะได้รับผลกระทบมากกว่าเนื่องจากการค้าของอังกฤษเกือบครึ่งหนึ่งเป็นการค้ากับกลุ่มประเทศอียู
การเจรจาการค้าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาไม่สามารถหาข้อตกลงได้ในประเด็นสิทธิการทำประมง กฎการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม และการคลี่คลายข้อพิพาทในอนาคต
แม้ทั้งสองฝ่ายจะต้องการข้อตกลง แต่อังกฤษและอียูก็มีมุมมองในรายละเอียดแตกต่างกัน อียูกังวลว่าอังกฤษจะลดมาตรฐานทางสังคมและสิ่งแวดล้อม อัดฉีดเงินให้อุตสาหกรรมภายในประเทศ กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจที่มีกฎระเบียบต่ำ และอาจเป็นคู่แข่งทางการค้าที่ใกล้ตัวของอียูได้ ทำให้อียูคาดหวังให้มีการใช้กฎระเบียบกับอังกฤษ แลกเปลี่ยนกับการที่อียูจะให้อังกฤษทำการค้ากับตลาดอียูได้
การเมืองไทย
โครงการอาหารโลกเตือน ผู้คน 270 ล้านคนเผชิญภาวะขาดอาหาร

เดวิด บีส์ลีย์ ผู้อำนวยการบริหารของโครงการอาหารโลก หรือ WFP ของสหประชาชาติ เป็นตัวแทนขององค์กรเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อวันพฤหัสบดี พร้อมเตือนว่า มีผู้คน 270 ล้านคนทั่วโลกเผชิญกับภาวะขาดอาหาร
นายบีส์ลีย์กล่าวระหว่างพิธีรับมอบรางวัลว่า รางวัลโนเบลที่ WFP ได้รับในครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณให้มีการลงมือปฏิบัติจริง เพราะมีผู้คนทั่วโลก 270 ล้านคนกำลังจะเข้าสู่ภาวะขาดอาหารเนื่องจากสงคราม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การใช้ความหิวโหยเป็นเครื่องมือทางการเมืองและการทหาร รวมถึงการระบาดของโควิด-19
“จากผู้ที่อยู่ในภาวะเสี่ยง 270 ล้านคนนั้น มีถึง 30 ล้านคนที่ชะตาชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับเรา 100 เปอร์เซ็นต์” ผู้อำนวยการของ WFP กล่าวในพิธีที่จัดแบบเสมือนจริงที่กรุงโรม อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของ WFP
บีส์ลีย์ยังกล่าวด้วยว่า แม้จะมีผู้คนจำนวนมากกว่าประชากรทั้งหมดในยุโรปตะวันตกที่กำลังเข้าใกล้ภาวะอดอาหาร แต่อีกด้านหนึ่ง กลับมีความมั่งคั่งในโลกมากถึง 400 ล้านล้านดอลลาร์ แม้แต่ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก ก็มีความมั่งคั่งในโลกเพิ่มขึ้น 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียง 90 วัน ในขณะที่การช่วยให้ผู้คน 30 ล้านคนให้พ้นจากภาวะทุพโภชนาการนั้นใช้เงินเพียง 5 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น
ทั้งนี้ เมื่อปีค.ศ. 2019 WFP ได้ช่วยเหลือผู้คนเกือบ 100 ล้านคนใน 88 ประเทศ คณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ระบุว่า WFP ได้ปฏิบัติภารกิจเพื่อบรรเทาความหิวโหยและส่งเสริมสันติภาพในดินแดนที่มีความขัดแย้ง และเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันไม่ให้มีการใช้ความหิวโหยเป็นเครื่องมือทำสงคราม ตลอดช่วงเวลา 60 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กร
การเมืองไทย
เด็กนักเรียนไนจีเรียหลายร้อยคนถูกลักพาตัว ผู้ปกครองวอนเจ้าหน้าที่เร่งติดตาม

ผู้ปกครองของนักเรียนชายที่โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งในรัฐแคตสินา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของไนจีเรีย วิงวอนให้เจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือบุตรหลานของพวกตนจำนวนหลายร้อยคนที่ถูกลักพาตัวไปโดยกลุ่มมือปืนหลายคน
โฆษกประธานาธิบดีไนจีเรีย แถลงในคืนวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ทหารไนจีเรียได้ยิงต่อสู้กับกลุ่มมือปืนที่ลักพาตัวเด็กนักเรียนไปจากโรงเรียนชายล้วน Government Science ในเมืองคานคารา แต่บรรดาผู้ปกครองเปิดเผยในวันอาทิตย์ว่าพวกตนยังไม่ทราบชะตากรรมของบุตรหลานจนถึงขณะนี้
พ่อแม่บางคนกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ตนได้แต่สวดภาวนาของให้ลูกปลอดภัย และขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยเร่งติดตามหาเบาะแสของนักเรียนที่ถูกลักพาตัวไป
นักเรียนบางคนที่หนีรอดมาได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า พวกตนหลบหนีออกมาจากป่าที่ถูกกลุ่มมือปืนพาไปซ่อนตัว แต่ยังไม่แน่ชัดว่ามีนักเรียนที่ถูกจับไปทั้งหมดที่คนและกลุ่มคนร้ายมีจุดประสงค์อะไร
ที่ผ่านมา กลุ่มมุสลิมติดอาวุธทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของไนจีเรียมักก่อเหตุโจมตีใส่ชาวบ้าน รวมทั้งปล้นบ้านเรือนและลักพาตัวไปเรียกค่าไถ่ โดยเมื่อเดือนที่แล้ว เกิดเหตุคนร้ายโจมตีและสังหารตัดคอเกษตรกรหลายคนในรัฐบอร์โน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรียด้วย